เบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวาน คือ โรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปรกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าที่ควรเป็น กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และสำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้า กำหนดเกณฑ์การวัดน้ำตาลในเลือดว่า หากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่า 126 มก./ดล. (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) หลังจากอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชม. ถือว่าน้ำตาลสูงผิดปกติ
โดยปกติ เมื่อเรารับประทานอาหารแล้ว อาหารจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จึงทำให้น้ำตาลให้เลือดสูงขึ้น อินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน มีหน้าที่เปรียบเสมือนนายทวารที่คอยเปิดประตูให้น้ำตาลในเลือดเข้าไปในเซลล์ได้ เพื่อนำไปเผาผลาญเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย จนกระทั่งเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงสู่ระดับปกติ ตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินน้อยลง
เบาหวานเกิดได้อย่างไร
โรคเบาหวานที่เราพบกันโดยทั่วไปเกิดจาก "ความดื้อต่ออินซูลิน" (insulin resistance) หมายความว่าอินซูลินทำงานไม่ถนัด ไม่สามารถเปิดผนังเซลล์ให้กว้างเพื่อนำน้ำตาลที่อยู่ในรูปของกลูโคสในกระแสเลือดเดินทางเข้าสู่เซลล์ได้อย่างคล่องตัว เราจึงมีน้ำตาลหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากกว่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้ ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินจำนวนมากขึ้นเพื่อมาช่วยงาน แต่เมื่อทำอย่างนี้นานๆ เข้า เบต้าเซลล์ หรือเซลล์ตับอ่อนจะค่อยๆ ตายลง จนในที่สุด ตับอ่อนจะไม่มีกำลังผลิตอินซูลินออกมาได้เพียงพอสำหรับการเปิดผนังเซลล์ จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน
ปัจจัยที่ส่งผลให้เราเป็นคนดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุ และความอ้วน
ประเภทของเบาหวาน
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามสาเหตุของการเกิดโรค เบาหวานประเภทที่ 1 เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายสร้างสารแอนตี้บอดี้มาต่อต้านและทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ซึ่งสาเหตุจริงยังไม่ทราบแน่ชัด
เบาหวานประเภทที่ 1 นี้ เป็นโรคเบาหวานชนิดที่เกิดขึ้นรุนแรงเฉียบพลัน มักแสดงอาการตั้งแต่ยังเด็ก ตับอ่อนจะหยุดผลิตอินซูลินโดยสิ้นเชิง ดังนั้น คนไข้ต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเข้าไปในร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือดและทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ อย่างไรก็ตามโรคเบาหวานชนิดนี้ พบได้น้อยมากในคนไทย
ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะพบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย โดยมีสาเหตุมาจากความดื้อต่ออินซูลิน และผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีแนวโน้มอายุน้อยลง หรือแม้กระทั่งเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ จากเดิมที่มักพบในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป