ถ้าให้พูดถึงอาหารยอดฮิตสำหรับการลดน้ำหนัก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ คงต้องตอบว่า “สลัดผัก” แต่รู้หรือไม่ว่า กินสลัดผักไม่ถูกวิธี ก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน!!!
โดยทั่วไปแล้ว “สลัดผัก” ประกอบไปด้วย ผัก ธัญพืช เนื้อสัตว์ และน้ำสลัด
ผักและธัญพืช แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก คือ
ผักที่ให้พลังงานน้อยมาก เช่น ผักกาดแก้ว เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค กะหล่ำปลี ไม่ต้องนับพลังงาน
ผักที่ให้พลังงานปานกลาง เช่น บร็อคโคลี แครอท ข้าวโพดอ่อน 1 ทัพพี ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
ธัญพืชและผักหัว เช่น ฟักทอง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วแดง มัน เผือก 1 ทัพพี ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี
เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ที่นิยม เช่น ไข่ต้ม อกไก่อบ ปลาทอด หมูย่าง พลังงานจะแตกต่างกันตามชนิดของเนื้อสัตว์และวิธีการปรุง เช่น ไข่ต้ม 1 ฟอง ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี ในขณะที่หมูย่างไม่ติดมัน 1 ชิ้น (100 กรัม) ให้พลังงาน 235 กิโลแคลอรี
น้ำสลัด มีหลากหลายรูปแบบ หากเป็นสลัดน้ำใส 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี ในขณะที่สลัดน้ำข้น 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานประมาณ 60 กิโลแคลอรี
จะเห็นได้ว่า หากเรากินสลัดโดยเน้น ธัญพืชและผักหัว เลือกเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น หมูทอด และใส่น้ำสลัดน้ำข้นในปริมาณที่เยอะ จะทำให้เราได้รับพลังงานมากเกินจำเป็น ดังนั้น หากไม่ต้องการได้รับพลังงานเกิน
เลือกผักให้หลากหลาย โดยเน้นผักใบที่ให้พลังงานน้อย เช่น ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี แครอท อาจใส่ธัญพืชเล็กน้อย 1-2 ทัพพี เช่น ข้าวโพด ลูกเดือย ฟักทอง
เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หรือปรุงประกอบด้วยวิธี ต้ม/นึ่ง/อบ/ย่าง/จี่
เลือกน้ำสลัดน้ำใส/ ใส่น้ำสลัดแต่พอดี หรืออาจใช้โยเกิร์ตไขมันต่ำแทนน้ำสลัดได้
โดย ชฎาพร หนองขุ่นสาร
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT, CDE)
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร รพ.วิมุต-เทพธารินทร์