อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร
อนุมูลอิสระ (Free Radical) คือ สารหรือกลุ่มสารที่ไม่เสถียรซึ่งสามารถทำลายเซลล์หรือรบกวนระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ โดยอนุมูลอิสระอาจเกิดได้จากกระบวนการต่าง ๆ ของร่ายกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร หรือได้รับมาจากภายนอกร่างกาย เช่น มลภาวะ รังสียูวี สารพิษจากบุหรี่ เป็นต้น ในภาวะที่ร่างกายได้รับอนุมูลอิสระในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด (Oxidative stress) และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหรือโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท การอักเสบ เป็นต้น
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) คือ สารหรือกลุ่มสารที่ทำหน้าที่จับและยับยั้งอนุมูลอิสระ ซึ่งในสภาวะปกติร่างกายสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้ในปริมาณหนึ่งเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากภายนอกร่างกาย
สารต้านอนุมูลอิสระเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 อย่างไร
การติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบและส่งผลให้การดำเนินโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในผู้ป่วย COVID-19 มีแนวโน้มของการขาดวิตามินและเกลือแร่ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันภาวะดังกล่าว ซึ่งมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรค COVID-19
สารอนุมูลอิสระในแหล่งอาหาร
สารต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในแหล่งอาหารหลายชนิด ซึ่งอยู่ในรูปของวิตามินและแร่ธาตุ ได้แก่
วิตามินอี
- น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน
- ถั่วและธัญพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน ถั่วอัลมอนด์ ถั่วฮาเซลนัท
- ผลไม้ เช่น อะโวคาโด กีวี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
- ปลาทะเล เช่น ปลากะพง ปลาซาบะ ปลาทูน่า
วิตามินซี
ผักและผลไม้สดทุกชนิด
วิตามินเอ
ชีส ไข่ ปลาทะเล นมและผลิตภัณฑ์ เครื่องในสัตว์ ผักสีเขียวเข้ม สีเหลือง-ส้ม
สังกะสี
หอยนางรม เมล็ดแตงโม เห็ด เนื้อแดง ไข่แดง ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง
ซีลิเนียม
อาหารทะเล เครื่องในสัตว์และเนื้อแดง ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง จมูกข้าว
นอกจากนี้กลุ่มสารประกอบฟีนอล (phenolic compounds) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกรูปแบบหนึ่งที่พบอยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด ได้แก่
แอนโทไซยานิน - กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง ดอกอัญชัน ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
เบต้าแคโรทีน - แครอท พริก ตำลึง กระถิน กะเพรา
ไลโคปีน - มะเขือเทศ มะละกอ แตงโม
อัลลิซิน - กระเทียม
พิเพอรีน - พริกไทยดำ
โดย วีรวัฒน์ วรรณศักดิ์ศรี
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร รพ.วิมุต-เทพธารินทร์
แหล่งที่มา
1. Muhammad, Y., Kani, Y. A., Iliya, S., Muhammad, J. B., Binji, A., El-Fulaty Ahmad, A., Kabir, M. B., Umar Bindawa, K., & Ahmed, A. (2021). Deficiency of antioxidants and increased oxidative stress in COVID-19 patients: A cross-sectional comparative study in Jigawa, Northwestern Nigeria. SAGE open medicine, 9, 2050312121991246.
2. Lammi, C., & Arnoldi, A. (2021). Food-derived antioxidants and COVID-19. Journal of food biochemistry, 45(1), e13557.
3. Mrityunjaya, M., Pavithra, V., Neelam, R., Janhavi, P., Halami, P. M., & Ravindra, P. V. (2020). Immune-Boosting, Antioxidant and Anti-inflammatory Food Supplements Targeting Pathogenesis of COVID-19. Frontiers in immunology, 11, 570122.
4. Abulmeaty, M., Aljuraiban, G. S., Shaikh, S. M., ALEid, N. E., Mazrou, L., Turjoman, A. A., Aldosari, M. S., Razak, S., El-Sayed, M. M., Areabi, T. M., Alsalafi, R. M., Al-Helio, Y. S., Almutairy, A. B., & Molla, H. N. (2021). The Efficacy of Antioxidant Oral Supplements on the Progression of COVID-19 in Non-Critically Ill Patients: A Randomized Controlled Trial. Antioxidants (Basel, Switzerland), 10(5), 804.