การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอคโค่ (Echo)
การทำเอคโค่หัวใจ (Echo) คืออะไร
การทำเอคโค่หัวใจ (Echo) หรืออัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) คือ เป็นการตรวจหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ที่มีความถี่ 1-12 MHz ส่งคลื่นเสียงไปยังตำแหน่งของหัวใจและสะท้อนสัญญาณกลับมาประมวลผลเป็นภาพ 2-3 มิติ ทำให้ประเมินลักษณะกายภาพของหัวใจและบอกการทำงานของหัวใจขณะนั้นได้แบบเวลาจริง
สิ่งที่เห็นได้จากการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง คือ
- ลักษณะทางกายภาพ และวัดขนาดของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ
- พลศาสตร์ของระบบไหลเวียนโลหิตในหัวใจห้องต่างๆ
- การเคลื่อนไหวของผนังหัวใจ รวมถึงการทำงานของลิ้นหัวใจทั้งหมด
- การทำงานของหัวใจทั้งขณะบีบตัวและคลายตัว (LV systolic and diastolic function)
- เมื่อตรวจร่วมกับการวิ่งสายพาน หรือให้ยากระตุ้นเพิ่มการบีบตัวหัวใจ จะสามารถใช้วินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดได้ (Stress Echocardiogram for ischemia detection)
ประโยชน์ของการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echo)
การทำ Echo หรืออัลตราซาวด์หัวใจสามารถตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจชนิดต่างๆ ได้แก่
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย พร้อมทั้งสามารถบอกตำแหน่งของส่วนกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายได้ รวมถึงสามารถประเมินการทำหน้าที่บีบและคลายตัวของหัวใจ
- โรคของลิ้นหัวใจทุกชนิด สามารถจัดระดับความรุนแรง และกำหนดแนวทางการรักษา
- โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง ภาวะมีน้ำขังในเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งการตรวจเอคโค่หัวใจเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค การวางแผนรักษา และใช้ร่วมกับการเจาะระบายน้ำออกจากเยื่อหุ้มหัวใจได้ด้วย
- โรคผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูแต่กำเนิด (เกิดจากความผิดปกติของการปิดผนังขณะเป็นตัวอ่อน) ลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
- เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงเหตุการณ์ฉุกเฉินของหัวใจ (หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน) ที่อาจเกิดในระหว่างหรือหลังการผ่าตัดของผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เป็นต้น
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echo)
Echo ถือเป็นการตรวจหัวใจแบบละเอียด และไม่ได้จัดอยู่ในรายการตรวจสุขภาพพื้นฐานทั่วไป บุคคลที่ควรได้รับการตรวจด้วย Echo มีตัวอย่างดังนี้
- มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาการคนไข้คือเหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้เพราะเหนื่อย ขาบวมทั้งสองข้าง
- มีโรคหัวใจชนิดต่างๆ ที่ทราบอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคลิ้นหัวใจชนิดตีบหรือรั่ว โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจ Echo จะมีประโยชน์มากในการติดตามการรักษาและการดำเนินของโรค
- แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น มีเสียงฟู่ (Murmur), ตำแหน่งหัวใจเลื่อนออกไปจากปกติซึ่งสงสัยว่ามีภาวะหัวใจโต (มีหลายสาเหตุ) การตรวจด้วย Echo จะมีประโยชน์ช่วยวินิจฉัยโรค
- มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ (Sudden cardiac death) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนามากผิดปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy)
- มีขนาดหัวใจโตหรือสงสัยว่ามีโรคทางกายภาพของหัวใจโดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น อาจเจอความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกพบว่าหัวใจขนาดใหญ่ หรือจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดไปจากเกณฑ์ปกติ (Echo จะเป็นตัวตัดสินว่าสรุปแล้วมีหัวใจโตหรือไม่ และมีโรคหัวใจหรือไม่)
- ผู้ป่วยโรคหัวใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
- ผู้ป่วยที่มีอาการหรือความเสี่ยงโดยแพทย์ ประเมินแล้วสงสัยว่ามีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดจึงต้องการสืบค้นเพิ่มเติม
ปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวน่าจะได้ประโยชน์จากการทราบการทำงานของหัวใจเป็นพื้นฐาน เพราะการศึกษาสมัยใหม่มียาที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่การบีบตัวหัวใจปกติ (Heart failure with preserved ejection fraction or HFpEF) โดยมีผลลัพธ์ที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและอาการที่ดีขึ้น กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ที่น่าจะได้ประโยชน์คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อมเรื้อรัง โรคหัวใจสั่นพริ้ว โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาจตรวจ Echo ได้ก่อนที่จะเริ่มมีอาการเหนื่อยเพื่อเป็นการป้องกันโรคแบบปฐมภูมิ
วิธีการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram)
การตรวจใช้เวลาประมาณ 40 นาที ในกรณีที่มีความผิดปกติแพทย์อาจใช้ระยะเวลาตรวจนานขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด ก่อนวางแผนการรักษา
การเตรียมตัวก่อนตรวจเอคโค่หัวใจ (Echo)
- ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนมาทำการตรวจ ยกเว้นการตรวจเอคโค่ชนิดกระตุ้นบีบตัวหัวใจจะให้งดน้ำและอาหารก่อนการตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- ผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถอดหรือเปิดบริเวณหน้าอกได้ง่ายเพื่อความสะดวกในการตรวจ (ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะให้ถอดเสื้อผ้าและเสื้อชั้นในออก และใส่เสื้อคลุมที่จัดเตรียมให้แทน)
ข้อควรรู้หลังตรวจเอคโค่หัวใจ (Echo)
- การตรวจเอคโค่เป็นการตรวจที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน โดยคลื่นเสียงที่ส่งไปที่หัวใจไม่ได้มีผลต่อการทำงานของหัวใจ
- สามารถดำเนินกิจกรรมและรับประทานอาหารได้เหมือนเดิมเป็นปกติ
- อาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ เมื่อตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ
ตรวจเอคโค่หัวใจ (Echo) ที่ไหนดี
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH มีการเลือกเครื่องมือที่มีความทันสมัยและได้มาตรฐานสูงจากสหรัฐอเมริกา โดยสามารถเก็บภาพได้ทั้งสองมิติ (2-D Echocardiogram) หรือสี่มิติ (4-D Echocardiogram) ทำให้การวินิจฉัยสามารถทำได้อย่างแม่นยำและถูกต้องยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเครื่อง Echocardiogram นี้ ยังสามารถประเมินภาวะหัวใจผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มแรก (Global Longitudinal Strain) และสามารถทำได้ทั้งอัลตราซาวด์คลื่นเสียงผ่านทางหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram) หรือผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiogram) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ ขนาดหัวใจ ลิ้นหัวใจ เส้นเลือดแดงใหญ่ เยื่อหุ้มหัวใจ และภาวะผิดปกติในหัวใจทั้งหมด
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH อาคาร A ชั้น 2
โทร. 095-241-4242 , 02-348-7000 ต่อ 2200, 2210, 2211