โรคหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease : CAD) คือ โรคที่หลอดเลือดแดงเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ลดลงจากการกดเบียดเข้า เนื่องมาจากมีการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีและเม็ดเลือดขาวในชั้นใต้เยื่อบุหลอดเลือด เมื่อดำเนินโรคไปนานจะเกิดหินปูนสะสมภายในผนังหลอดเลือดเพิ่ม จึงขวางการเดินทางของเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ออกซิเจนที่ถูกลำเลียงโดยเซลล์เม็ดเลือดแดงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ
เส้นเลือดหัวใจตีบเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบและการเสื่อมสภาพ โดยมีปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน การสูบบุหรี่ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เพศ อายุ พันธุกรรมในครอบครัว เป็นตัวเร่งให้เกิดโรค
เมื่อโรคมีการดำเนินไปมากขึ้นจนเส้นเลือดตีบเยอะ ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยง่าย โดยที่อาการมักเป็นขณะออกแรงทำกิจกรรมที่ใช้พลังงาน เช่น การออกกำลังกาย เมื่อเส้นเลือดตีบมากหรือมีการตัน จะเกิดภาวะหัวใจบีบตัวอ่อนแรง เกิดกลุ่มอาการหัวใจล้มเหลวมีน้ำท่วมปอด (heart failure) ซึ่งทำให้อายุขัยสั้นกว่าคนที่ไม่เป็นโรค
นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (heart attack or acute coronary syndrome) ซึ่งจะมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรง น้ำท่วมปอด ภาวะช็อคจากการบีบเลือดไม่ดี (cardiogenic shock/pump failure) หัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง เสียชีวิตเฉียบพลันได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร
- โรคเบาหวานมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 2 เท่า เพราะผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้น อาจมีผลต่อการปิดกั้นการไหลเวียนของโลหิต
- โรคคอเลสเตอรอลสูง
- โรคความดันโลหิตสูง
- สูบบุหรี่ เพราะมีสารที่จะทำอันตรายต่อหลอดเลือด จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดตีบเป็นอย่างมาก
- โรคที่มีการอักเสบในร่างกายมาก เช่น โรครูมาตอยด์ กลุ่มโรคข้อสันหลังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรค SLE
- อายุมาก
- เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
- หญิงวัยหมดประจำเดือน
- กลุ่มอาการอ้วนลงพุง
- พันธุกรรม
- สารเสพติด เช่น amphetamine cocaine
อาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นอย่างไร
- เจ็บแน่นหน้าอก ตำแหน่งมักรายงานว่าเป็นตรงกลางเหมือนถูกของหนักทับ อาจร้าวไปที่กรามหรือต้นแขนด้านในข้างใดก็ได้ มักเป็นขณะออกแรงทำกิจกรรม หากอาการนี้เกิดขณะอยู่เฉยๆ และมีความรุนแรงมาก หมายความว่าเกิด heart attack คนไข้ต้องรีบไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร. 1669 ให้รถฉุกเฉินมารับตัว ถ้าหากมีอาการเจ็บหน้าอก จี๊ดๆ มักไม่ได้เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
- เหนื่อยง่ายขณะออกแรงเป็นอาการที่ควบคู่กับอาการแน่นหน้าอก โดยคนไข้อาจมีอาการร่วมกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะหัวใจของคนเรามีไม่เท่ากัน หัวใจที่ถูกกระทำทั้งตำแหน่ง และระยะเวลานั้นต่างกัน จึงปรับตัวได้ต่างกัน (ischemic preconditioning) อาการจึงมีความหลากหลาย
- กลุ่มอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งพบได้ในโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเกิดได้ทั้งที่หัวใจบีบตัวดีและไม่ดี
- หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น เป็นผลจากไฟฟ้าหัวใจผิดปกติจากการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา
จะรู้ได้อย่างไรว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ
- เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงและมีอาการดังกล่าว โดยปกติเส้นเลือดหัวใจตีบมักจะถูกตรวจพบเมื่อมีอาการ เพราะขั้นตอนการตรวจและแปลผลมีความซับซ้อน ต้องใช้ทรัพยากรในการตรวจและความชำนาญมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจพบโรคค่อนข้างสูง
- มีรายงานผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงแต่ไม่มีอาการและยังสามารถออกกำลังกายหนักได้เหมือนคนปกติเช่นกัน จึงไม่ควรที่จะละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี
ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างไร
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบถือเป็นโรคปลายทางจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว แต่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และทำให้อายุขัยของผู้ป่วยน้อยลง ปัจจุบันมีการป้องกันโรคทางการแพทย์ที่ดีมากขึ้นและค้นพบยาที่มีประโยชน์คือกลุ่มยา statin ที่ช่วยให้ลดอุบัติการณ์เกิดโรคเส้นเลือดร้ายแรง ทำให้อายุขัยยาวนานขึ้น โดยยาจะเห็นประโยชน์ชัดเจนมากในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในกลุ่มที่ความเสี่ยงต่ำ ยาไม่ได้แสดงประโยชน์ให้เห็นแบบมีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะนี้จึงเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่มีประโยชน์อย่างชัดเจนโดยต้องปฏิบัติตัวให้สุขภาพดีควบคู่ไปด้วย ได้แก่
- ควบคุมโรคประจำตัวให้ดีตามคำแนะนำของแพทย์
- ควบคุมอาหารและพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อควบคุมโรคอ้วนลงพุงและโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- คุมอาหารรสหวานจัด และแป้ง ให้รับประทานไม่เกินร้อยละ 45 ของพลังงานที่บริโภคทั้งหมดในแต่ละวัน
- ลดปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวประเภททรานส์ (trans-fatty acid) ให้มีปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 1 ของพลังงานที่บริโภคทั้งหมดในแต่ละวัน
- ควบคุมการรับประทานไขมันอิ่มตัวให้ไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่บริโภคทั้งหมดในแต่ละวัน
- ควบคุมอาหารคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม (ไข่ไก่ 1 ฟองโดยประมาณ)
- ควบคุมสุรา ไม่ให้รับประทาน alcohol เกิน 20 กรัมในผู้ชาย และ 10 กรัมในผู้หญิง
- ลดอาการเครียด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ห้ามสูบบุหรี่ในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคแล้ว
- ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือถี่ตามที่แพทย์แนะนำ
ผู้ป่วยโรคหัวใจตีบควรดูแลตัวเองอย่างไร
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ลดน้ำหนัก และควบคุมคอเลสเตอรอล
- ควบคุมความเครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารประเภทไขมันต่ำและกากใยสูง
- ลดและจำกัดปริมาณเกลือไม่เกิน 6 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เพื่อลดอัตราการเกิดความดันโลหิตสูง
รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ไหนดี
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH มีเครื่องมือชนิดพิเศษต่างๆ ที่ช่วยในการรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบเพื่อเปิดหลอดเลือด เช่น ROTABLATOR™ (Rotational atherectomy) เป็นตัวกรอหัวเพชรทำหน้าที่เป็นสว่าน ใช้ในการทะลวงเปิดหลอดเลือดอุดตันเรื้อรังจากหินปูนที่แข็งมากได้ มีลวดตัวนำชนิดพิเศษที่สามารถผ่านจุดตีบตันได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคพิเศษจากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากในเรื่องการเปิดหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งเพิ่มความสำเร็จในการเปิดหลอดเลือดเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน โดยศูนย์ปฏิบัติการสวนหัวใจโรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นศูนย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปิดหลอดเลือดชนิดตีบตันผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ภายใต้การกำกับดูแลโดย ศาสตราธิคุณนายแพทย์วสันต์ อุทัยเฉลิม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH center
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด iCATH อาคาร A ชั้น 2
โทร. 095-241-4242 , 02-348-7000 ต่อ 2200, 2210, 2211