• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

5 โรคของต่อมไทรอยด์



ระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากหรือน้อยเกินไป ลักษณะของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ คือสัญญาณของโรคต่อมไทรอยด์ โรคของต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด การรักษาก็แตกต่างกัน โดยทั่วไปเราจำแนกโรคของต่อมไทรอยด์ได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

 
  1. ไฮเปอร์ไทรอยด์ - ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เรียกอีกอย่างว่าต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายทำงานเร็วเกินไป การเผาผลาญอาหารเร็ว เกิดเป็นความร้อน  ผู้ที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์จึงมักมีอาการเหงื่อออกมาก น้ำหนักลด กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ใจสั่น แขนขาอ่อนแรง นัยน์ตาโปน เป็นปื้นที่หน้าขา และต่อมไทรอยด์โต ไฮเปอร์ไทรอยด์รักษาได้ด้วยการรับประทานยา กลืนไอโอดีน-131 หรือผ่าตัด

 
  1. ไฮโปไทรอยด์ -ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ การทำงานของเซลล์ในร่างกายจึงเฉื่อยชา อาการที่พบได้บ่อย คือ น้ำหนักเพิ่ม หนาว ง่วง เพลีย ผมร่วง ผิวแห้ง ความจำไม่ดี ซึมเศร้า หัวใจเต้นช้า เป็นตะคริวบ่อยท้องผูก รอบตาบวม ตัวบวมหน้าบวม และต่อมไทรอยด์โต  ในกรณีนี้ แพทย์จะให้ยารับประทานเพื่อรักษาภาวะไฮโปไทรอยด์

 
  1. ต่อมไทรอยด์อักเสบ – ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย เป็นไข้ เหนื่อยง่าย ต่อมไทรอยด์โตและจะรู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณต่อมไทรอยด์   ส่วนชนิดเรื้อรังหรือฮาชิโมโต้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติต้านตนเองที่เรียกว่าออโตอิมมูน มีอาการคอโตแต่กดไม่เจ็บ และอาจยุบได้เอง สามารถตรวจได้จากแอนติบอดี้ในเลือด  หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้มีการอักเสบต่อเนื่องต่อมไทรอยด์จะถูกทำลายและกลายเป็นไฮโปไทรอยด์ได้ในที่สุด  โรคต่อมไทรอยด์อักเสบรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเช่นกัน

 
  1. ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ - กลุ่มโรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ แบ่งเป็น  2 ชนิด ได้แก่ ต่อมไทรอยด์โตแบบหลายก้อน และต่อมไทรอยด์โตแบบก้อนเดียว  ถ้าเป็นก้อนน้ำ แพทย์อาจใช้วิธีดูดน้ำหรือเซลล์จากก้อนเนื้อไปตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ กรณีไม่เป็นมะเร็งสามารถรักษาได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การใส่ยาเตตร้าไซคลินหรือแอลกอฮอล์ลงไปทำให้ก้อนที่คอมีขนาดเล็กลง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจเกิดขึ้นใหม่ได้  ซึ่งต้องให้แพทย์วินิจฉัยและพิจารณาวิธีการรักษาต่อไป

 
  1. มะเร็งต่อมไทรอยด์ – มะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นชนิดรุนแรงน้อย ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ แพพิลลารี (papillary carcinoma) และฟอลลิคูลาร์ (follicular carcinoma)  มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักจะเกิดในช่วงวัย 20-50 ปี  อาการที่น่าสงสัยคือเป็นก้อนที่คอ ค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ หากปล่อยไว้นาน ก้อนนี้อาจโตและไปเบียดอวัยวะข้างๆ ทำให้กลืนลำบาก  แพทย์จะต้องเจาะดูดเซลล์ไปตรวจเพื่อวินิจฉัย หากเป็นชนิดแพพิลลารี ผลการตรวจมักจะมีความแม่นยำสูง แต่ถ้ากรณีที่สงสัยว่าจะเป็นแบบฟอลลิคูลาร์ แพทย์จะตรวจซ้ำและผ่าตัด ซึ่งผลการผ่าตัดอาจเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ มะเร็งต่อมไทรอยด์มักจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ตามด้วยปอดหรือกระดูก ซึ่งอาจใช้เวลานานนับสิบปี แต่ถ้าได้รับการดูแลดีและวินิจฉัยเร็ว ส่วนใหญ่รักษาได้ ส่วนชนิดรุนแรงพบไม่บ่อยนักและมักเกิดกับผู้สูงอายุ

    ผ่าตัดไทรอยด์ 
    สอบถามเพิ่มเติม 02-348-7000 ต่อ 3215-3216 , 4021

    รักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน I-131 
    สอบถามเพิ่มเติม 02-348-7000 ต่อ 4021

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@vimut-theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email