• 3850 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพ
  • ตลอด 24 ชั่วโมง
  • 02-348-7000

เป็น“เก๊าท์”ห้ามกินไก่...จริงหรือ?

 


เชื่อว่าหลายๆ คน คงเคยได้ยินว่า คนที่เป็นโรคเก๊าท์ ไม่ควรกินไก่ เพราะจะทำให้โรคเก๊าท์แย่ลง อาการปวดตามข้อต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร วันนี้มาทำความรู้จักกับ“อาหารต้านเก๊าท์”กันค่ะ 

 

โรคเก๊าท์ คือ โรคข้ออักเสบที่เกิดจากกรดยูริกในเลือดสูง โดยกรดยูริกถูกสร้างมาจากสารพิวรีน ซึ่งปกติร่างกายสร้างขึ้นเองและได้มาจากอาหาร เมื่อผลึกของกรดยูริกตกตะกอนในน้ำไขข้อของกระดูกต่างๆ ซึ่งมักเป็นบริเวณ หัวแม่เท้า ข้อเท้า ทำให้เกิดอาการปวด ทั้งนี้โรคเก๊าท์ จัดเป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนของโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไต

อาหารต้านเก๊าท์ 

  1. ลดการกินเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด แต่สามารถกินปลาได้ ทั้งปลาทะเล และปลาน้ำจืด ซึ่งปลา   เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกกิน ไก่ ไข่ ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดีที่ย่อยง่ายได้ในปริมาณที่เหมาะสม 

  2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนจากพืช ข้าวกล้อง ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วเหลือง หรือธัญพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง นอกจากนี้ยังมีโปรตีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้

  3. กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบได้ ซึ่งพบมากในผักและผลไม้

  4. กินไขมันที่ดีจากถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ควรกินถั่ววันละประมาณ 1 กำมือ 

  5. ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยการขับกรดยูริกผ่านทางปัสสาวะ

  6. ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตส  น้ำผึ้ง น้ำอัดลม หรืออาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อม ฟรุกโตสเข้มข้น (High fructose corn syrup) ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้

  7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากทำให้กรดยูริกในเลือดสูงแล้ว ยังทำให้ควบคุมน้ำหนักตัวยากอีกด้วย

  8. จดบันทึกรายการอาหารที่กินแล้วอาการเก๊าท์กำเริบ อาหารชนิดใดกินแล้วปวดมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น
     

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเก๊าท์ให้ดีขึ้น  ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ลดแรงกดที่ข้อ

จะเห็นได้ว่า “ไก่” ไม่ได้เป็นอาหารต้องห้ามของผู้เป็นโรคเก๊าท์ แต่หากผู้ป่วยท่านใดกินไก่แล้วอาการปวดตามข้อเพิ่มมากขึ้น ก็ควรงด และเลือกโปรตีนจากแหล่งอื่นทดแทน เช่น ปลา ไข่ หรือโปรตีนจากพืช

โดย ชฎาพร หนองขุ่นสาร 
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT, CDE) 
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร รพ.วิมุต-เทพธารินทร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

02-348-7000

Have a question? call us now

@vimut-theptarin

Be friend with us

info@Theptarin.com

Need support? Drop us an email