หัวใจเต้นผิดปกติ (Cardiac arrhythmia)
หัวใจเต้นผิดปกติเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อย แต่มักไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการของโรคหัวใจเต้นผิดปกติจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ใจสั่น ใจหวิวๆ เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ถ้ามีอาการมากขึ้น อาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตแบบฉับพลันได้
หัวใจเต้นปกติเป็นอย่างไร
ในภาวะปกติอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วหรือช้าขึ้นกับกิจกรรมและความต้องการออกซิเจนของร่างกาย เช่น ขณะนอนหลับหัวใจจะเต้นประมาณ 40-60 ครั้ง/นาที ขณะนั่งพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 80-100 ครั้ง/ยาที ปละเร็วขึ้นเป็น 100 ครั้ง/นาที ในขณะวิ่ง
หัวใจเต้นผิดปกติเป็นอย่างไร
หัวใจเต้นผิดปกติคือภาวะที่หัวใจเต้นช้าเกินไปหรือเร็วเกินไปไม่เหมาะสมกับกิจกรรมหรือความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นไม่สม่ำเสมอก็ได้
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดปกติ
หัวใจเต้นช้าผิดปกติเกิดจากความเสื่อมของศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ (SA node) ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้ไม่เพียงพอหรือเกิดจากความเสื่อมของสายไฟฟ้า (AV conducting system) ในหัวใจทำให้ไฟฟ้าที่ออกจาก SA node ไม่สามารถลงไปกระตุ้นหัวใจได้ ในกรณีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมักจะเกิดจากการที่มีจุดกำเนิดไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าอื่นนอกเหนือจาก SA node และ AV conducting system ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมามากเกินไปหรือเกิดการหมุนวนของกระแสไฟฟ้าหรือที่นิยม เรียกกันว่าไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป
อาการ..ของหัวใจเต้นผิดปกติเป็นอย่างไร
ในรายที่
หัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการเด่นที่สำคัญคือ อาการที่ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าหัวใจเต้นช้าไม่มากก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อยในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด หมดสติหรือเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นได้
ในรายที่
หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยง่ายในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจอ่อนกำลังอยู่เดิม อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เกิดหัวใจล้มเหลว หมดสติหรือเสียชีวิตได้
กรณี หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยจะรู้สึกหัวใจเต้นสะดุด ใจหาย เหนื่อย บางรายอาจมีอาการสะอึก หรือไอตามการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ
จะรู้ได้อย่างไรว่า..หัวใจเต้นผิดปกติ
ขณะเกิดอาการควรตรวจวัดชีพจรดูว่ามีอัตราการเต้นอยู่ที่เท่าไรและมีจังหวะการเต้นสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะบอกได้แต่วิธีที่ดีที่สุด คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ขณะที่มีอาการ ซึ่งนอกจากจะบอกได้ว่าความรู้สึกที่หัวใจเต้นผิดปกตินั้นใช่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ ยังสามารถบอกชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามหัวใจเต้นผิดปกติมักเป็นๆ หายๆ ช่วงสั้นๆ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในบางรายก็จะหายเป็นปกติแล้ว บ่อยครั้งเราจึงไม่สามารถตรวจพบได้ ในกรณีที่เป็นบ่อยๆ แต่เป็นไม่นาน
วิธีการรักษาแพทย์จะสั่งให้ตรวจบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา ซึ่งเรียกเครื่องนี้ว่า Holter monitoring เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล
ในรายที่อาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดนานๆ ครั้ง และเป็นเวลาไม่นาน อาจไม่สามารถพบได้จากการตรวจ ECG หรือ การใช้เครื่อง Holter monitoring ได้
วิธีการรักษาแพทย์จะสั่งให้ตรวจด้วยเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา แบบบันทึกเฉพาะเวลาที่มีอาการ ซึ่งเรียกเครื่องนี้ว่า Event recorder มีขนาดเล็ก จึงสามารถพกพาไว้ในกระเป๋า โดยไม่จำเป็นต้องห้อยติดตัวตลอดเวลา เมื่อใดที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถนำเครื่องมาวางบริเวณหัวใจ เพื่อให้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจได้ทันที และนำมาให้แพทย์แปรผล ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องไม่มีอาการหมดสติขณะเกิดอาการ เพราะเครื่องจะไม่สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจด้วยตัวเองได้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด อาคาร A ชั้น 2
โทร. 02-3487000 ต่อ 2200,2210,2211