โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นชินว่า
“GERD” คือโรคที่เกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่บริเวณหลอดอาหาร (ลำคอ) ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ อาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว ไอ คลื่นไส้ หรือ อาเจียน
นอกจากการใช้ยาในการรักษาโรคกรดไหลย้อนแล้ว การปรับพฤติกรรมการกินอาหารก็ช่วยบรรเทาอาการโรคกรดไหลย้อนและช่วยให้การรักษาเห็นผลเร็วยิ่งขึ้น เมื่อหายจากโรคแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคกรดไหลย้อนได้อีก
ป้องกันและรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1. ลดน้ำหนัก ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนเพิ่มโอกาสการเป็นโรคกรดไหลย้อน การลดน้ำหนักจะช่วยป้องกันและช่วยให้การรักษาเห็นผลดียิ่งขึ้น
2. แบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็กหลายๆ มื้อ เช่น อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และ อาหารว่าง 2 มื้อ ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง
3. กินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
4. กินผักผลไม้ที่มีใยอาหารมากขึ้น เลือกผักที่หลากหลาย ผลไม้รสไม่หวานจัด
5. งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- อาหารที่มีความเป็นกรดสูง ได้แก่ น้ำอัดลม อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เลือกดื่มน้ำเปล่าและผลไม้ไม่เปรี้ยว เช่น กล้วย มะละกอ ฝรั่ง แคนตาลูป
- อาหารรสจัด อาหารเผ็ด อาหารที่มีรสเค็ม เลือกกินอาหารรสอ่อน ไม่ปรุงรสเพิ่ม
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ไก่ ไข่ เต้าหู้
- อาหารอื่นๆ เช่น หัวหอม กระเทียม ช็อคโกแลต มิ้นท์
แหล่งข้อมูล
Nutrition Guide for Clinicians. “Gastroesophageal Reflux Disease” [Online]. Available from: https://nutritionguide.pcrm.org/nutritionguide/view/Nutrition_Guide_for_Clinicians/1342015/all/Gastroesophageal_Reflux_Disease#4
Thai Neurogastroenterology and Motility Society. “Thailand GERD Guideline 2020” [Online]. Available from: http://www.gastrothai.net/th/guideline-detail.php?content_id=263
Andrea Johnson, RD “Gastroesophageal Reflux” [Online].
Available from: https://www.eatright.org/health/wellness/digestive-health/gastroesophageal-reflux
โดย ชฎาพร หนองขุ่นสาร
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (CDT, CDE)
ศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร รพ.วิมุต-เทพธารินทร์